มา Check List พัฒนาการน้องหมา พร้อมวิธีการฝึกเบื้องต้นกันเถอะ

22 มี.ค. 2560 38099

อยากรู้ไหมคะ ว่าน้องหมาของเรานั้นเติบโตตามวัยหรือเปล่า เพราะลูกสุนัขในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเจริญพันธุ์ เขาจะมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์และลักษณะนิสัยของน้องหมาในแต่ละช่วงวัยแล้วล่ะก็ รับรองได้เลยค่ะว่า…

น้องหมาของเรานั้นจะมีพัฒนาการความน่ารักและความฉลาดแบบก้าวกระโดด มีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์ดีอยู่เสมอ และจะกลายเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัวอย่างแน่นอนค่ะ



1. “วัยเบบี๋”

น้องหมาวัยเบบี๋

คือช่วงแรกเกิด ในระยะนี้น้องเค้าจะยังมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ดมกลิ่นได้ก็ไม่ดีนัก และก็ยังเดินไม่ได้อีกด้วย ระยะนี้น้องหมาจะหมดเวลาไปกับการกินและการนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นในช่วงเวลานี้เราจะต้องดูแลให้น้องหมากินให้อิ่ม นอนหลับให้สนิท และได้รับความอบอุ่นและปลอดภัยภายใต้อ้อมอกแม่ของเขาอยู่เสมอ เพียงเท่านั้นก็พอค่ะ


2. “วัยเปลี่ยนผ่าน” (ช่วง 3 สัปดาห์แรก)

น้องหมาอายุ 3 สัปดาห์

ฟุดฟิด ฟุดฟิด    ในระยะนี้จมูกและประสาทการรับรู้กลิ่นจะเริ่มทำงานอย่างเต็มที่ แต่ส่วนการมองเห็นและการได้ยินเสียงนั้น ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนักนะคะ และเมื่ออายุได้ประมาณ 21 วัน น้องหมาจะเริ่มเดินคล่องขึ้น เริ่มเห่าและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว เช่น มีการส่งเสียงร้อง มีการทำเสียงขู่คำรามเล็ก ๆ ในลำคอ เริ่มกระดิกหางได้ และมีการสื่อสารกับขุ่นแม่และกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น เล่นมวยปล้ำ กัดหู ดึงหาง เหยียบเท้ากันตามประสาพี่ ๆ น้อง ๆ

ช่วงนี้ถือว่าเป็น ช่วงวัยที่น่ารักน่าชังฝุด ๆ เลยล่ะค่ะ


3. “วัยแห่งการเรียนรู้” (ช่วง 4 - 7 สัปดาห์)

วัยที่เหมาะแก่การฝึกของน้องหมา

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับการบ่มเพาะนิสัยให้กับน้องหมาเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเขาจะเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย แบบเร็วเว่อร์ โดยมักจะเริ่มจากการสังเกต จดจำเสียงและท่าทาง (ลีลา) ของขุ่นแม่ รวมถึงปฏิกิริยาของคุณที่เป็นเจ้าของด้วยนะ อาจเรียกได้ว่า เราก็คือแม่แบบคนหนึ่งในการเรียนรู้ของเขานั่นเองค่ะ

เขาจะเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เพราะว่าประสาทสัมผัสทุกอย่างเจริญเต็มที่แล้ว เช่น จะเริ่มเดินสำรวจตรวจตรา ไล่ล่าดมทุกสิ่ง ชิมทุกอย่างที่ขวางหน้า

ช่วงเวลานี้น้องหมาจึงมีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างดีเยี่ยม สอนง่าย เรียนรู้ไว ซึมซับเร็ว จะเรียกว่า เป็นช่วงเวลาทองในการฝึกเลยก็ได้ เราต้องรีบฉวยโอกาสนี้สอนน้องหมาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะ...สอนให้เดินตาม, ขอมือสวัสดี, รอหม่ำอาหาร ฯลฯ (เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยโอกาสทองนี้หลุดมือไปนะคะ ท่านคุณผู้ชมมมมม)

จากนั้น เขาจะได้เรียนรู้ถึงการจัดลำดับชั้นทางสังคมด้วยการเล่นร่วมกันกับพี่น้องของเขา ด้วยการแสดงพฤติกรรมทั้งการแย่งชิงอาหาร การส่งเสียงขู่ แม้แต่การเล่นหยอกล้อและแกล้งตัวอื่น พฤติกรรมเหล่านี้จะบอกให้เขารู้ว่าตัวไหนชนะก็จะได้เป็นพี่ใหญ่ ตัวไหนแพ้ก็กลายเป็นน้องเล็กไป

ช่วงอายุนี้เราควรเล่นกับน้องหมาเขาเยอะ ๆ เพราะการเล่นจะทำให้น้องหมาเกิดการเรียนรู้ ทำให้น้องหมารู้ว่าเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวอีกคนหนึ่ง ส่วนจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณพี่ หรือจะเป็นนาย เป็นบ่าว ก็ว่ากันไปค่ะ
(เพราะเขาจะเรียนรู้นะว่าใครที่จะคอยออกคำสั่งหรือคอยโอ๋...และตามใจเขา)


4. “วัยเรียนรู้สังคม” (ช่วง 8 - 12 สัปดาห์)

วัยที่เหมาะแก่การเข้าสังคมของน้องหมา

น้องหมาก็ต้องเข้าสังคมนะคะคุณ ในช่วงวัยนี้เขาจะสนุกสนานมากกับการเข้ากลุ่มและเล่นกับน้องหมาตัวอื่น เรียนรู้ที่จะระมัดระวังในการอยู่ร่วมกันในกลุ่ม รวมทั้งปรับตัวในการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วยนะ

หมาก็เผือกเป็น ช่วงนี้แหละที่มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งรอบตัวสูงมาก จะเหมาะมากถ้าจะนำน้องหมามาเลี้ยงในระยะนี้ เพราะเป็นช่วงที่เขาชอบเข้าสังคม สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้ง่าย หากต้องแยกน้องหมาออกจากแม่และพี่น้อง ช่วงเวลานี้ล่ะเหมาะที่สุด เพราะน้องเขาจะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้แล้วนั่นเอง

คุณสามารถสอนคำสั่งง่าย ๆ ในการอยู่ร่วมกันได้ เพราะน้องหมาจะเริ่มเรียนรู้และเชื่อฟังคำสั่งต่าง ๆ มีความตื่นตัวอยากเรียนรู้ และอยากที่จะทำให้เราปลื้มในตัวเขามากที่สุดด้วย


5. “วัยว้าวุ่น” (ช่วงอายุ 12 สัปดาห์ ถึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 6 เดือน)

วัยเจริญพันธุ์ของน้องหมา

น้องหมาเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นวัยว้าวุ่นแล้วค่ะ เพราะน้องหมาจะมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ ทำให้เคลื่อนไหวได้เร็วมากขึ้น มีสภาพทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจที่เติบโตมากขึ้นด้วย

ในวัยนี้มักออกอาการที่เรียกว่า “ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้” เริ่มรู้จักการป้องกันตัวเอง เรียนรู้การตกเป็นเบี้ยล่าง เรียนรู้การยอมแพ้ต่อสุนัขอื่นที่มีกำลังมากกว่า ยอมรับสุนัขที่เป็นจ่าฝูง หรือสุนัขที่เป็นจ่าฝูงก็ต้องเรียนรู้การวางตัวเป็นผู้นำฝูง ซึ่งบางครั้งลูกสุนัขวัยเดียวกันที่เลี้ยงรวมกันอาจจะมีการต่อสู้ถึงเลือดตกยางออกได้ค่ะ

ชอบเรียนวิชาสปช. - สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ในวัยนี้น้องเขาจะชอบออกนอกบ้านเพื่อไปหาประสบการณ์ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ดังนั้นช่วงนี้เราต้องพาน้องหมาออกไปเดินเล่นบ่อย ๆ ออกไปเจอสุนัขตัวอื่น ๆ หรืออาจจะได้เจอกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ บ้างก็ได้นะคะ

ช่วงนี้เราควรสอน หรือฝึกคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น มา (Ca’mon Ca’mon), นั่ง (Sit down), คอย (รออออออ), นอน (เคล๊งงงง) หรือคีย์เวิร์ดไหนก็ได้เลยค่ะ ดีไซน์ได้ตามสไตส์เจ้าของได้เลย 555+ แต่ยังไม่จำเป็นต้องเร่งสอนมากเกินไปนะคะ เพราะช่วงวัยนี้น้องหมายังติดเล่นอยู่ ปล่อยให้เล่นให้เต็มที่ไปก่อนเลยค่ะ เป็นช่วงที่น้องยังซนและชอบเล่นมากที่สุด ถ้าสอนจริงจังหรือดุจนเกินไปอาจทำให้น้องเขาเครียดและกลายเป็นโรควิตกจริตได้นะคะ

น้องหมาเพศผู้ที่มีอายุมากกว่า 4 เดือน จะเริ่มแสดงความสนใจต่อเพศเมียที่เป็นสัด แต่จะเริ่มผสมพันธุ์ได้จริง ๆ ต่อเมื่ออายุประมาณ 7 - 8 เดือน ส่วนเพศเมียระยะโตเต็มวัยที่ชัดเจนคือการเป็นสัดครั้งแรกค่ะ หนูพร้อมแล้วค่ะ แบบนี้เรียกว่าดื้อสินะ

น้องหมาในช่วงวัยนี้บางตัวอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย ไม่เชื่อฟังคำสั่ง เราจึงต้องอดทนและใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อควบคุมและข่มพฤติกรรมไม่ดีต่าง ๆ ไว้ให้ได้ พร้อม ๆ กับการแสดงความรักและความผูกพันกับเขาให้มาก ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดีนะคะ



ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยใด เราก็ควรเอาใจใส่ และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้องหมา เพื่อที่เราจะได้รับมือกับพฤติกรรมของน้องหมาอย่างถูกวิธี แต่ที่สำคัญอย่าลืมให้ความรักน้องเขามาก ๆ ด้วยนะคะ ...เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยให้น้องหมาเติบโตเป็นคุณหมาสุขภาพดี 360 องศา และเป็นน้องหมาที่น่ารักของทุก ๆ คนเน๊อะ^^



ทีมงานสัตวแพทย์จาก OSDCO Community



ความคิดเห็น

Petch Suppakarnpanich
น่ารักจังเลยค่ะ

2 ให้คะแนนสำหรับข้อความนี้
สุมิตรา อันแสน
น้องหมาชอบกัดมือกันเท้า บางทีกระโดดพุ้งเข้ามากัดเลยก็มี จะเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ของน้องได้ยังไงคะ น้องอายุได้2เดือน17วันน้องเป็นพันธุ์ผสม ปอมผสมชิวาว่าปักกิ่งคะ

1 ให้คะแนนสำหรับข้อความนี้
Pages : 1

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
Top