5 อันดับอาการยอดฮิต ที่จะตามมาเมื่อแมวของคุณเป็นโรคอ้วน...

19 เม.ย. 2560 17284
ภาพน้องแมวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ภาพน้องแมวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

หากมีคำถามว่า คุณอยากให้น้องแมวของคุณมีรูปร่างแบบใด เชื่อว่าเกินครึ่งของทาสแมวอย่างเรา ๆ มักตอบว่าให้น้องเค้าอ้วน ๆ ค่ะ เพราะน่ารักดี จริงไหมคะ

แต่รู้หรือไม่ว่า... การที่เลี้ยงน้องแมวให้อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้น เป็นการทำร้ายน้องแมว อยู่แบบไม่รู้ตัวเลย นะคะ ภายใต้ความน่ารักน่ากอดนั้น มีแต่ผลเสียที่จะตามมามากมาย อย่างที่คุณอาจจะคิดไม่ถึง วันนี้ลองมาดูตัวอย่างโรค หรือความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เมื่อน้องแมวของคุณนั้นอ้วนกันนะคะ

1. โรคเบาหวาน

โรคที่มาแรงแซงทางโค้งปัญหาอื่น ๆ มาเลยก็คือ เบาหวาน นั่นเอง ความอ้วนจะมีผลกับการทำงานของอินซูลินอย่างมาก โดยเจ้าอินอินซูลินจะไม่ถูกกับความอ้วน ประมาณว่าเมื่อไหร่เขามาฉันจะไป เพราะเวลาที่น้องแมวนั้นอ้วนขึ้น ความไวรับของอินซูลินนั้นจะลดลง และการตรวจจับน้ำตาลในเลือดก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะน้องแมวที่เป็นเด็กน้อย อายุน้อยกว่า 1 ปี จะพบได้มาก ซึ่งคุณเจ้าของก็ควรจะป้องกันและจัดการควบคุมน้ำหนักน้องแมวให้ดีตั้งแต่เล็ก ๆ จะดีที่สุดค่ะ

2. โรคทางระบบปัสสาวะ

ถัดมาก็คือ โรคของระบบปัสสาวะ พบว่าในแมวโรคอ้วนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติที่ระบบปัสสาวะส่วนท้ายโดยเฉพาะการเกิดนิ่ว และยังทำให้น้องแมวน้ำหนักลดลงอีกด้วย ดังนั้นการรักษาจึงต้องควบคู่ไปกับการให้อาหารที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้น้องแมวเกิดความเครียด และยังมีรายงานอีกนะว่าโรคอ้วนจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไตในน้องแมว ซึ่งความผิดปกตินี้ก็สามารถพบในสุนัขได้เช่นกันค่ะ

3. โรคกระดูกและข้ออักเสบ

อีกหนึ่งความผิดปกติที่พบได้ก็คือ โรคกระดูกและข้ออักเสบ หรือความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เรามาเริ่มกันที่โรคกระดูกและข้ออักเสบกันก่อนนะคะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าหมอนรองกระดูกกันก่อนนะคะ ซึ่งคือส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง คอยรองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหว หากเจ้าหมอนรองกระดูกนี้เกิดการเคลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ จะทำให้น้องแมวเจ็บปวด และเป็นอัมพาตได้ค่ะ ซึ่งอายุและสายพันธุ์ไม่มีผลกับการเกิดโรค แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความอ้วน นั่นเองค่ะ น้ำหนักที่มากเกินจะเหนี่ยวนำให้เกิดการสะสมของธาตุแคลเซียมที่หมอนรองกระดูก และเพิ่มความเสี่ยงในการประทุ หรือการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกได้

กระดูกสันหลัง
หมอนรองกระดูก

ในต่างประเทศเคยมีการศึกษา
เปรียบเทียบโอกาสการเกิดขากะเผลกของแมวผอมและแมวอ้วน
เชื่อไหมคะว่า...โอกาสการเกิดโรคในแมวอ้วนนั้นมากกว่าแมวหุ่นปกติถึงสามเท่า และในเรื่องของความต้องการ ในการได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ ในแมวอ้วนมีค่าสูงกว่าแมวหุ่นปกติถึงห้าเท่า แทบจะกลิ้งแทนเดินเลยก็ว่าได้นะคะ

4. โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ

ส่วนความผิดปกติของระบบไร้ท่อนั้นหลัก ๆ เกิดจากความสัมพันธ์ของความอ้วนกับการเพิ่มขึ้นของสารสื่ออักเสบ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดไปจากเดิม ความแตกต่างของน้องแมวกับสัตว์อื่น ๆ ก็คือ ในส่วนของไทรอยด์ฮอร์โมน โดยในน้องแมวจะไม่ค่อยพบว่าระดับไทรอยด์ฮอร์โมนนั้นต่ำ แต่จะพบว่าไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในระดับสูงซะมากกว่า (ซึ่งจะตรงข้ามกับในสุนัข)

อย่างที่บอกไปนะคะว่า อาการที่แสดงจากต่อมไร้ท่อจะค่อนข้างเกิดขึ้นช้า ดังนั้นเราต้องมีตัวช่วยค่ะ การตรวจทางห้องปฏิบัติการถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เราทราบว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีความผิดปกติก่อนที่อาการจะแสดงออกมาให้เห็น เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อถือเป็นสิ่งที่ตรวจเจอยากที่สุด การป้องกันจึงสำคัญกว่าการรักษาโรคนะคะ

5. คุณภาพชีวิตแย่ลง

และสุดท้ายหากน้องแมวของเรานั้นอ้วนอุ้ยอ้าย ก็จะไม่มีความคล่องตัว ไม่ปราดเปรียวและซุกซนเหมือนนิสัยปกติ เมื่อแมวอ้วนความคล่องตัวก็จะลดลง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะลดลงไปด้วย ผิดไปจากธรรมชาติของแมว สิ่งเหล่านี้แสดงถึงคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และยังทำให้อายุของน้องสั้นลงอีกด้วยนะคะ

นอกจากนี้การวางยาสลบในสัตว์เลี้ยงที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายที่มากกว่าสัตว์ที่รูปร่างปกติ การดูแลก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามมา พูดกันตรง ๆ ก็มีแต่เสียกับเสียค่ะ

แมวอ้วน

การที่เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของเรา ให้มีรูปร่างอ้วน นั้นยอมรับนะคะ...ว่าน่ารักจริง แต่ผลเสียที่จะเกิดตามมานั้นไม่คุ้มกันเลย ซึ่งวิธีการป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราอ้วนนั้น ก็ทำได้ไม่ยากเลยนะคะ เพียงแค่คุณเจ้าของ ควบคุมปริมาณอาหาร ที่ให้น้องแมวกินในแต่ละวันให้เหมาะสมกับสายพันธุ์และช่วงอายุ


การให้อาหารแมวในปริมาณที่เหมาะสม การให้อาหารแมวในปริมาณที่เหมาะสม
ภาพสัตวแพทย์กำลังตรวจร่างกายแมว ภาพสัตวแพทย์กำลังตรวจร่างกายแมว

หมั่นให้ความรัก เอาใจใส่ และเล่นกับเขา...
เพียงเท่านี้น้องแมวก็จะสุขภาพแข็งแรง อยู่กับเราได้นานขึ้นอีกด้วยนะคะ


ที่มา
Top 5 Clinical Consequences of Obesity By Deborah Linder, DVM, DACVN ,Clinician brief page 20 – 21

ทีมงานสัตวแพทย์จาก OSDCO Community



ความคิดเห็น

Sirinapa Choojang
อยากจะถามคุณหมอหน่อยคะว่า อยู่ๆแมวหนูชักขึ้นมาเองทั้ง2ตัวเลยค่ะ แรงไม่มีเดิน แถมเดินเซ อีกต่างหากแบบนี้หนูควรทำไงคะพาไปหาสัตว์แพทย์ก็แล้วจนแมวอีกตัวไม่ค่อยตอบสนองแล้วคะ ส่วนอีกตัว ดิ้นทุรุนทุรายมากๆ เพราะแรงขาไม่มีเดิน หนูควรทำไงคะ ช่วยตอบทีคะ

0 ให้คะแนนสำหรับข้อความนี้
Pages : 1

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
Top