เมื่อน้องหมาโดน งูพิษ กัด

6 มิ.ย. 2560 85923

สัตว์ทุกชนิดนั้นเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และร่างกายของสัตว์แต่ละชนิดนั้นก็ถูกออกแบบมาให้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และการอยู่รอดของมันที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเพื่อใช้ในการล่าเหยื่อ หรือใช้เพื่อป้องกันตัว ในสัตว์บางชนิดอาจมีความพิเศษ คือ ร่างกายของมันสามารถสร้างสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่จะมาทำอันตรายมัน หรืออาจใช้เพื่อทำให้เหยื่อของมันหมดทางสู้ เราเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า สัตว์มีพิษ


เมื่อน้องหมาโดน งูพิษ กัด

สัตว์เลี้ยง ไม่ว่าน้องหมาหรือน้องแมว โดยเฉพาะในวัยเด็ก เป็นวัยที่มีความขี้เล่น และอยากรู้อยากเห็นมาก เป็นพิเศษ กลับกันการระมัดระวังตัวก็จะน้อยกว่าวัยโตเต็มวัย หรือวัยชรา เปรียบเหมือนกับเด็ก หรือวัยรุ่น ที่ไม่ค่อยกลัวอันตรายใด ๆ เพราะยังคึกคะนองและขาดประสบการณ์ ด้วยลักษณะนิสัยนี้ ทำให้สัตว์เลี้ยงในวัยนี้ มีโอกาสที่จะบังเอิญไปเล่น ไปแหย่ หรือไปรบกวนสัตว์มีพิษที่เป็นอันตรายได้

ถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยง มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัตว์มีพิษ รู้ว่าเราจะจัดการและปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงของเราที่ถูกสัตว์มีพิษทำร้ายอย่างไร จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการช่วยชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่เรารัก

สัตว์มีพิษยอดฮิตที่มักจะทำอันตรายให้กับน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ของเรานั้น อันดับหนึ่งเลยก็คือ งู

อย่างที่เราทราบกันดีว่า งูนั้นมีทั้งแบบ มีพิษและไม่มีพิษ สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูที่ไม่มีพิษกัดนั้น ถ้าไม่ได้ถูกกัดที่อวัยวะสำคัญ และความเสียหายของบาดแผลไม่ได้รุนแรงมาก ก็ไม่อาจทำอันตรายให้สัตว์เลี้ยงถึงแก่ชีวิตได้

แต่ถ้าหากว่าสัตว์เลี้ยงของเรานั้นถูกงูพิษกัด อันตรายถึงแก่ชีวิต ก็อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และทันท่วงที ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เริ่มถูกกัดจนถึงสัตว์แสดงอาการนั้นอาจแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ ชนิดและขนาดของงูพิษ ปริมาณพิษที่ถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกาย และสภาพร่างกายของสัตว์ที่ถูกพิษ ซึ่งใน สุนัข อาจมีระยะเวลา ตั้งแต่ 10 นาที จนถึง 72 ชั่วโมง และในแมว ตั้งแต่12 ชั่วโมง จนถึง 36 ชั่วโมง ก็เป็นได้

อาการของสุนัขที่ถูกงูพิษกัดในระยะแรกเริ่มโดยทั่วไป คือ จะพบรอยเขี้ยวที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และมีอาการปวด บวม ร้อน ที่บริเวณรอยเขี้ยวที่ถูกกัด แต่ก็มีแผลจากงูพิษบางชนิดที่จะไม่ค่อยแสดงอากาศปวดและบวม เช่น งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา

รอยบวมบริเวณแก้มและขา อาการบวมอักเสบที่แก้ม
รอยบวมบริเวณแก้มและขา อาการบวมอักเสบที่ขา


ในเวลาต่อมาสัตว์เลี้ยงที่ถูกกัดก็จะแสดงอาการจำเพาะต่อระบบ โดยขึ้นอยู่กับ ชนิดของงูพิษ ดังนี้

1. อาการทางระบบระสาท คือ สัตว์เลี้ยงที่ถูกกัดจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต และไปขัดขวางกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ จนสัตว์เลี้ยงไม่สามารถหายใจได้จนเสียชีวิตในที่สุด

พิษของงูเหล่านี้ ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูทับสมิงคลา และงูสามเหลี่ยม

งูจงอาง งูจงอาง
งูเห่า งูเห่า
งูสามเหลี่ยม งูสามเหลี่ยม
งูทับสมิงคลา งูทับสมิงคลา

2. อาการทางระบบเลือด คือ พิษของงูจะไปขัดขวางกลไกการแข็งตัวของเลือดในร่างกายของสัตว์เลี้ยงที่ถูกกัด เป็นผลทำให้เกิดเลือดออกจากแผลไม่หยุด และมีเลือดออกตามช่องว่างต่างๆของร่างกาย เช่น ที่ตา ที่ทางเดินอาหาร ทำให้มีอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดสด ที่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดจุดหรือปื้นเลือดออกตามตัว สุดท้ายก็ทำให้สัตว์เสียเลือดจนถึงแก่ชีวิต

พิษของงูเหล่านี้ ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ

งูเขียวหางไหม้

งูเขียวหางไหม้

งูแมวเซา

งูแมวเซา

งูกะปะ

งูกะปะ


เมื่อเราพบหรือสงสัยว่า... สัตว์เลี้ยงของเราถูกงูพิษกัด
สิ่งแรกที่ควรนึกถึงคือ การนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุด

แต่ก่อนที่จะไปก็ อย่าลืมโทรศัพท์สอบถามและแจ้งอาการของสัตว์เลี้ยงแก่สัตวแพทย์ก่อน เพื่อที่ทางสัตวแพทย์จะได้เตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตได้ทัน เพราะสัตว์เลี้ยง ที่ได้รับพิษงูที่มีผลต่อระบบประสาทมา อาจจะหยุดหายใจ ในขณะที่นำส่ง โรงพยาบาล ก็เป็นได้ ในขณะที่นำส่งโรงพยาบาล อาจทำการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือที่ไม่ใช่น้ำอุ่น

ไม่ควรทำการขันเชนาะ ประคบร้อน ประคบเย็น กรีดแผลให้เลือดออกมากขึ้น ใช้ของร้อนจี้แผล หรือดูดพิษจากบาดแผล เพราะนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะ และบาดแผลมากขึ้นไปอีกได้

การรักษาพิษจากงูพิษโดยสัตวแพทย์นั้น นอกจากการรักษาเพื่อประคับประคองชีวิต เช่น การให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวดแล้ว วิธีที่ได้ผลแน่นอนที่สุด ก็คือ การให้เซรุ่มที่ตรงกับชนิดของ งูพิษ

โดยสัตวแพทย์ที่ทำการรักษาน้องหมาน้องแมวของเจ้าของ จะทำการซักประวัติจากเจ้าของ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถบอกได้ว่า งูพิษที่กัดสัตว์เลี้ยงของเรานั้น คือ งูชนิดอะไร

เพราะฉะนั้น เจ้าของควรจะสังเกตและจดจำลักษณะรูปพรรณสัณฐานของงูตัวนั้น ๆ ให้ได้ หรือถ้ามีรูปถ่ายหรือซากของงูที่ตายแล้วก็ควรนำมาให้หมอพิจารณา รวมถึงระยะเวลาที่โดนกัด ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการรักษาเป็นอย่างมาก


แม้ว่างูพิษเหล่านี้จะมีพิษร้ายถึงชีวิต แต่จริง ๆ แล้ว การทำร้ายจากงูพิษเหล่านี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่องูถูกรบกวนหรือถูกทำให้ตกใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญชาตญานการเอาชีวิตรอดของสัตว์ทุกชนิด เพราะฉะนั้น ถ้าต่างฝ่ายต่างอยู่ โดยเรา ป้องกันไม่ให้งูเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น ปิดทางเข้าออกต่างๆ ที่งูจะสามารถรอดเข้ามาได้ ถางหญ้าภายในสวนไม่ให้รกรุงรัง ป้องกันไม่ให้มีหนูเข้าบ้าน และควบคุมน้องหมาน้องแมวของเราไม่ให้ไปเล่นในพื้นที่ ที่เสี่ยงอันตราย ก็จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย

อ.ดร.น.สพ. ถิรวุฒิ คงตาทราย

PhD
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)
Top