Panadda

ทำไมแผลไม่ยอมหาย ????

ถามเมื่อ 4 ก.ค. 2560 19920
ทำไมแผลไม่ยอมหาย ???? น้องโดนสุนัขกัดแล้วทำให้เป็นแผลไขมันเน่า เป็นไขมันออกเป็นเม็ดๆ ทางเจ้าของพาไปรักษาทำแผลและให้น้องกินยาแก้อักเสบแล้วเรื่อยๆ ประมาณ 2 เดือนกว่า จนแผลเริ่มแห้งและดีขึ้นมาก สัตวแพทย์บอกว่าสามารถทำแผลเองได้และให้เปิดแผล  เลยตัดสินใจทำแผลเองที่บ้าน เปิดแผลได้ประมาณ 4 วันแผลน้องเหมือนเริ่มลามออกมาไม่ยอมแห้ง มีคนแนะนำว่าให้พาไปตัดหางเพื่อตัวน้องจะได้ไม่ต้องมาเจ็บตัวหลายรอบ แผลน้องยังมีหนองออก เจ้าของซับแผลให้ตลอดด้วยเบตาดีนฆ่าเชื้อ อยากได้คำปรึกษาว่าควรพาน้องไปตัดหางออกดีไหมเพราะทำแผลแต่ละรอบน้องดิ้นแรงมากไม่ยอมให้ทำ แล้วเหมือนแผลน้องจะกลับมาขนาดเท่าเดิม

ถ้าต้องตัดหางจริงๆ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ แล้วต้องดูแลน้องยังไง ให้เป็นปกติ ทางเจ้าของยังไม่ได้ทำงานจึงมีเวลาดูแลน้องทั้งวัน แต่ต่อไปเจ้าของจะต้องไปทำงาน อยากให้น้องหายเร็ว ๆ จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงเวลาไม่อยู่กับน้อง

**** น้องเป็นโรคไตระยะ 3 ด้วยแต่สามารถกินอาหารกินน้ำได้ตามปกติไม่มีปัญหา ******

ความคิดเห็น

OSDCO Vet Team
ทีมงานสัตวแพทย์จาก OSDCO Community

ขออภัยด้วยนะคะที่ตอบคำถามล่าช้า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ทางเรามีปัญหาเรื่องระบบ ซึ่งในตอนนี้ได้ทำการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ

0 ให้คะแนนสำหรับคำตอบนี้
อาจารย์หมอเส
อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ
DVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในกรณีที่มีบาดแผลเปิดขนาดใหญ่ และเป็นอย่างเรื้อรัง แนะนำให้พาไปพบกับสัตวแพทย์อีกครั้ง เพื่อวางแผนการควบคุมการติดเชื้อ และทำความสะอาดบาดแผลอย่างเหมาะสม รวมทั้งอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) แบบฉีดหรือแบบรับประทาน เพื่อช่วยควบคุมการติดเชื้อที่บาดแผล กับทั้งเพื่อลดโอกาส (หรือป้องกัน) การติดเชื้อจากบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายได้ครับ 

สาเหตุของบาดแผลที่เป็นอย่างเรื้อรัง อาจเกิดจาก

- สัตว์ป่วยไม่ได้รับการทำแผลหรือการป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่บาดแผลอย่างต่อเนื่องเหมาะสม

- สัตว์ป่วยมีการแทะเลียแผลอยู่เป็นประจำ

- บาดแผลมีขนาดใหญ่และติดเชื้อลงสู่เนื้อเยื่อชั้นลึก และมีหนองหรือเนื้อตายขัดขวางการหายของแผล

- สัตว์ที่ป่วยเรื้อรังอาจมีปัญหาโภชนาการที่ไม่สมดุล รวมทั้งอาจมีปัญหาภูมิคุ้มกันในร่างกายที่อ่อนแอ จึงทำให้บาดแผลหายช้าและมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย
 
- หากสัตว์ป่วยมีปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย เช่น ไม่สามารถควบคุมการอุจจาระ หรือการปัสสาวะได้อย่างที่ควรจะเป็น ก็อาจทำให้ผิวหนังหรือบาดแผลซึ่งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเกิดความสกปรก อับชื้น หรือติดเชื้อปนเปื้อนมาจากอุจจาระ ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้แผลไม่หายได้ครับ

- ในบางราย อาจเป็นเนื้องอกที่ผิวหนัง ซึ่งบังเอิญพบในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดบาดแผลพอดี ซึ่งกรณีนี้ อาจจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจยืนยันครับ 

การตัดหาง อาจเป็นประโยชน์ หากพบว่าสัตว์ป่วยไม่สามารถยกหางหรือควบคุมหางได้ ทำให้เกิดการสกปรกอับชื้นขึ้นที่บริเวณโคนหางด้านล่างซึ่งสัมผัสกับอุจจาระหรือปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง / หรืออาจเป็นประโยชน์หากพบว่าบาดแผลค่อนข้างลึกและควบคุมการติดเชื้อได้ลำบาก / รวมทั้งอาจเป็นประโยชน์ในกรณีที่เป็นเนื้องอกบางชนิ ฯลฯ อย่างไรก็ดี การจะให้คำตอบว่าควรตัดหางหรือไม่ และจะได้ประโยชน์จากการตัดหางมากน้อยเพียงใด ควรอาศัยการตรวจประเมินโดยสัตวแพทย์ครับ

สำหรับในเคสนี้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดก็ได้แก่ ปัญหาความเสี่ยงของการวางยาสลบเนื่องมาจากภาวะการทำงานของไตไม่ปกติ รวมทั้งอาจพบปัญหาแทรกซ้อนตามมาหลังจากการผ่าตัดได้ เช่น ปัญหาความเสื่อมของไต, ปัญหาแผลแตก หรือการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แผลผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องประเมินไปพร้อมๆ กับการประเมินประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการตัดหาง  เพื่อชั่งน้ำหนักดูว่า คุ้มค่าที่จะเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่ และมีโอาสเสี่ยงในการเกิดผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ ซึ่งสัตวแพทย์ผู้ตรวจจะสามารถให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสมที่สุดครับ 

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด โดยมากมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษากับคุณหมอผู้ตรวจ ซึ่งน่าจะประเมินแผนการรักษา รวมทั้งราคาค่ารักษาพยาบาลได้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดครับ 

0 ให้คะแนนสำหรับคำตอบนี้
Pages : 1

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)

Top